เด็กเกิดใหม่ลดลง ราคาที่เกาหลีใต้ต้องจ่าย หากไม่เปลี่ยนค่านิยมการศึกษา
ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤต “ประชากรเกิดใหม่ลดลง” ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีสถานการณ์หรือปัจจัยเบื้องหลังแตกต่างกันออกไป
สำหรับ “เกาหลีใต้” คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ต้องการที่จะมีลูกอีกต่อไปแล้ว เพราะมองว่า สภาพสังคมเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ไม่เหมาะต่อการมีลูก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า “เกาหลีใต้คือประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกสูงที่สุดในโลก”
ค่าใช้จ่ายที่สูงนี้เกิดจากค่านิยมและวัฒนธรรม “ชิงดีชิงเด่น ต้องเป็นที่หนึ่ง” ซึ่งทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้บุตรหลานที่เกิดมา ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของ “การสอบซูนึง” เพราะเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย อาชีพ ไปจนถึงอนาคตเรื่องการแต่งงาน
ค่านิยมชิงความเป็นหนึ่งนี้เข้มข้นถึงขนาดที่ว่า เมื่อลูกเกิดมา พ่อแม่ก็ต้องพยายามมองหาโรงเรียนอนุบาลดี ๆ ให้ลูกแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นจะเข้าโรงเรียนประถมถึงมัธยมที่มีการเรียนการสอนดี ๆ ไม่ได้ อันจะส่งผลให้การสอบซูนึงซึ่งยากมากอยู่แล้วเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก
เกาหลีใต้ตั้งเป้ากวาดล้างสถาบันกวดวิชา เหตุสร้างภาระให้กับผู้ปกครอง
เกาหลีใต้จ่อขึ้นแท่น หนึ่งในประเทศประชากรสูงอายุมากสุดในโลก
บริษัทจีนใจป๋า แจกเงินพนักงาน 2.5 แสนบาท ต่อการมีลูก 1 คน
ทางการเกาหลีใต้ได้ลองสุ่มตัวอย่างข้อสอบซูนึง และพบว่า มันเต็มไปด้วย “คำถามเพชฌฆาต” โดยมีตั้งแต่แคลคูลัสขั้นสูงชวนปวดหัว ไปจนถึงข้อความที่ตัดตอนมาจากวรรณกรรมที่ยากต่อการทำความเข้าใจ
เมื่อเผชิญกับเส้นทางที่ยากลำบากเช่นนี้ นั่นทำให้อุตสาหกรรม “โรงเรียนกวดวิชา” หรือ ฮากวอน (학원) ได้รับความนิยมและเฟื่องฟูมากในเกาหลีใต้ ในฐานะ “ความหวัง” ที่จะทำให้ลูกหลานสอบซูนึงได้คะแนนยอดเยี่ยม
เราจะพบว่าเป็นเรื่องปกติมากที่นักเรียนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จะสมัครเรียนกวดวิชาพิเศษ โดยหลังเลิกเรียนในโรงเรียนก็ต้องตรงไปที่ฮากวอนตอนเย็น และทบทวนบทเรียนด้วยตัวเองต่อในช่วงดึก หรือเช้าของวันถัดก่อนไปโรงเรียน
ในขณะเดียวกัน ก็มีสถาบันกวดวิชาไม่น้อยที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ว่าสามารถทำให้นักเรียนได้เข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ได้ เพื่อเรียกเก็บเงินแพง ๆ กลายเป็นภาระเกินจำเป็นของผู้ปกครอง
อุตสาหกรรมฮากวอนในเกาหลีใต้มีขนาดใหญ่และทำกำไรได้สูงมาก กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ระบุว่า ในปี 2022 ชาวเกาหลีใต้ใช้จ่ายไปทั้งหมด 26 ล้านล้านวอน (7 แสนล้านบาท) ไปกับการเรียนกวดวิชาเอกชน เกือบเท่ากับจีดีพีของบางประเทศ เช่น เฮติ (7.4 แสนล้านบาท) เลยทีเดียว
อี จูโฮ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ กล่าวว่า ปีที่แล้ว นักเรียนโดยเฉลี่ยในโรงเรียนประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ใช้เงินไปกับการเรียนกวดวิชาเฉลี่ย 410,000 วอน (11,000 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2007
นอกจากนี้ ปีที่แล้ว มีนักเรียนถึง 78.3% ของนักเรียนทั้งหมดในประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย ต้องเข้าศึกษาในสถาบันกวดวิชา เท่ากับมากกว่า 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งประเทศเสียอีก
ที่น่าเศร้าคือ ระบบที่มีสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยภาระจะสูงขึ้นอย่างมากสำหรับครอบครัวที่ยากจน ซึ่งมักจะใช้รายได้เกือบทั้งหมดของพวกเขาไปกับการศึกษาของบุตร และผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นช่องว่างที่ชัดเจนในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างครอบครัวที่มีรายได้น้อยและรายได้สูง
แต่ล่าสุดทางการเพิ่งมีประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะ “กวาดล้างโรงเรียนกวดวิชา” ให้หมดไปจากประเทศ และ “ปรับลดความยากของข้อสอบ” เพราะมองว่าเป็นภาระที่หนักเกินไปสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็กเองที่ต้องอยู่ภายใต้ภาวะกดดันว่าจะต้องได้คะแนนสอบที่ดี
อี จูโฮ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปราบปรามกลุ่มสถาบันกวดวิชา โดยเพิ่มความพยายามในการตรวจสอบติดตามโฆษณาของสถาบันกวดวิชาที่อวดอ้างเกินจริง นอกจากนี้ยังตั้งเป้าตัดวงจรการออกโจทย์ยาก ๆ ในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย หวังให้เด็ก ๆ ลดการพึ่งพาสถาบันกวดวิชาเอกชน และสร้างระบบการสอบที่ยุติธรรม
อี จูโฮ กล่าวว่า คำถามที่ยากมากในข้อสอบบางครั้งเป็นเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนของรัฐ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นักเรียนที่เข้าถึงสถาบันกวดวิชาไม่ได้ แม้ว่าการตัดสินใจของผู้ปกครองและเด็ก ๆ ในการติวหนังสือจะเป็น “ตัวเลือกส่วนบุคคล” แต่หลายคนรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำเช่นนั้นเนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อให้ทำได้ดีในการสอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ กล่าวว่า “เราจะตัดวงจรอุบาทว์ของโจทย์ยาก ๆ ในข้อสอบ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการแข่งขันที่มากเกินไปในกลุ่มนักเรียนและพ่อแม่ในสถานบันกวดวิชา อย่างแรกเลยนะครับ เราจะออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยุติธรรม และถอนรากถอนโคนกลุ่มสถาบันกวดวิชาออกไป”
เขาบอกว่า เพื่อจุดประสงค์นี้ รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริการทางโทรศัพท์ชั่วคราวสำหรับประชาชนเพื่อรายงานการหลอกลวงโดยฮากวอนและสถานศึกษาเอกชน รวมถึงรัฐบาลจะจัดหาโปรแกรมหลังเลิกเรียนและโปรแกรมกวดวิชาเพิ่มเติมในภาครัฐ และให้บริการดูแลเด็กที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนถูกบีบให้เข้าร่วมฮากวอน
อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าสนใจคือ ความเคลื่อนไหวนี้ของทางการเกาหลีใต้ จะสามารถช่วยลดภาระของผู้ปกครอง กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ต้องการมีลูกมากขึ้นได้จริงหรือ?
นักเคลื่อนไหวบางกลุ่ม เช่น องค์กรภาคประชาสังคม The World Without Worry About Private Education ยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าว โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เด็ก “หมกมุ่นอยู่กับการแข่งขันที่มากเกินไป”
แต่ในขณะเดียวัน นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มมองว่า เกาหลีใต้ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว่านี้ เช่น รื้อบรรทัดฐานและค่านิยมบางอย่างที่ยังฝังแน่น ไม่ว่าจะเป็นการตองเป็นที่หนึ่ง อคติทางเพศ อคติต่อระดับของสถาบันการศึกษา ฯลฯ รวมถึงควรมีการสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับพ่อแม่ที่ทำงานเพื่อส่งเสียลูกหลาน
นักวิจารณ์บางคนมองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัฐบาลเกาหลีว่าเป็นการแก้ปัญหาเพียงผิว ทั้งที่ปัญหาจริงซับซ้อนและใหญ่กว่ามาก โดยรัฐบาลเพียงต้องการเสียงสนับสนุนก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า
ด้านนักเรียนมัธยมปลายหลายคนที่เตรียมสอบซูนึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ บ่นว่า พวกเขารู้สึกมืดบอดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันหลังจากใช้เวลาหลายปีในการศึกษาเนื้อหาที่พวกเขาคิดว่าจะมีอยู่ในดรงเรียน บางคนเห็นพ้องต้องกันว่า สถาบันกวดวิชาจำเป็นต้องปฏิรูป แต่สงสัยในประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวนี้
ชาวเน็ตรายหนึ่งบอกว่า “จากมุมมองของเด็กมัธยมปลายในปัจจุบัน ฉันไม่คิดว่าการสอนพิเศษแบบตัวต่อตัวจะลดลงเพียงเพราะคำถามยาก ๆ ถูกกำจัดออกไป”
อีกคนบอกว่า “ฉันคิดว่าวิธีกำจัดความนิยมหรือการพึ่งพาสถาบันกวดวิชาไม่ได้อยู่ที่การตัดคำถามบางข้อหรือลดความยากของซูนึง แต่ต้องแก้ไขสภาพแวดล้อมของตลาดงาน คือธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ ต้องไม่คำนึงถึงวุฒิการศึกษาของคุณ ทุกคนต้องได้ทำงานที่ปลอดภัย มีค่าจ้างเพียงพอ และมีหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจบจากที่ไหนก็ตาม”คำพูดจาก สล็อต888
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP